วันฉัตรมงคล
ความสำคัญ
วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ คือ พระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วจึงได้เสด็จนิวัติในประเทศไทย และรัฐบาลไทยได้น้อมเกล้า ฯ จักพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก
พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
1. ขั้นเตรียมงานพระราชพิธี เริ่มตั้งแต่พิธีตักน้ำ และทำพิธีเสกน้ำ ณ เจดีย์สถานสำคัญจากสถานที่ตักน้ำ ก่อนที่จะส่งเข้ามาทำพิธีต่อไปในพระนคร น้ำที่เสกนี้ใช้สำหรับถวายบสำหรับถวายเป็น น้ำอภิเษก และสรงมุรธาภิเษก โดยมีระเบียบกำหนดให้ ใช้น้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ และสรภู ในชมภูทวีป หรือที่เรียกว่า "ปัญจมหานที" แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ห่างจากชมภูทวีปมาก ไม่สะดวกในการเดินทาง จึงเปลี่ยนมาใช้น้ำจากแม่น้ำ 18 แห่ง จากภายในพระราชอาณาจักรแทน นอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกดวงพระราชสมภพในพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชสัญจกร
2. พิธีเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่ตั้งนำวงด้วย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์
3. พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เริ่มจากสรงมุรธาภิเษก ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้ง 8 กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล และถวายดินแดนให้อยู่ในความคุ้มครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นทรงรับน้ำอภิเษก ขึ้นสู่พระที่นั่งภัทรบิฐพระราชอาสน์องค์ใหม่ พระมหาราชครูเริ่มร่ายเวทย์พิธีพราหณ์เมื่อร่ายเวทย์เสร็จแล้วจึงกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ถวายเครื่องราชกกุธ คือ เครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ไดแก่พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาทเมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎสวมพระเศียร เจ้าพนักงานจะประโคมดนตรี ทหารยิงปืนใหญ่ พระสงฆ์เคาะระฆัง และสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร หลังจากนั้นพราหมณ์ถวายพระแสงศาสตราวุธเป็นอันเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
4. พิธีเบื้องปลาย เมื่อเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จออก ณ มหาสมาคม เพื่อให้เหล่าข้าราชการ และประชาชนได้ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชาภิเษก และตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ได้มีพระราชพิธีประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี นอกจากนั้นเสร็จพระราชดำเนินเพื่อประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมมหาราชวัง
5. เสด็จเยี่ยมราษฎร เมื่อทรงเสด็จพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินให้ราษฎรได้มีโอกาสชมพระบารมี
การจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองวันฉัตรมงคลในอดีต
แต่เดิมเป็นงานพิธีเฉลิมฉลองของเจ้าพนักงานในพระราชฐานที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในหกเดือน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ในอารยประเทศย่อมนับถือว่า วันคล้ายวันบรมราชาบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคลสมัยควรเฉลิมฉลอง จึงทรงริเริ่มวันฉัตรมงคลขึ้นแต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ อธิบายให้ฟังก็ไม่เข้าใจ เผอิญวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม จึงทรงอธิบายว่า ฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัย
พระบาทสมเด็จรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดิสิมหาปราสาทด้วยเหตุนี้จึงถือว่า การเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
ในสมัยรัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จะโปรดเกล้า ฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 ก็ไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดยินยอม จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษา ประเพณีสมโภชเครื่องราชูโภคอยู่ตามเดิม รูปงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นดังนี้จนถึงปัจจุบัน
การจัดงานวันฉัตรมงคลในปัจจุบัน
ในขั้นตอนการจัดงานฉัตรมงคลในปัจจุบัน มักกำหนดให้เป็น 3 วัน คือ วันที่ 3 พฤษภาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน คือ พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระบรมราชบุพการี ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ ณ พระที่นั่งอมรินทน์วินิจฉัย ซึ่งในวันนี้ได้เพิ่มพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลที่จะพระราชทานแก่หน่วยทหารบางหน่วยเข้าไว้ด้วย
ในวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานจะได้อัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎเศวตฉัตร พระครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล แล้วทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
ในวันที่ 5 ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ทรงบูชาเครื่องกกุธภัณฑ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช พระมหาเศวตฉัตรและราชกกุธภัณฑ์
ตอนเย็นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่ผู้มีความดีความชอบ แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ปราสาทพระเทพบิดร เป็นเสร็จพระราชพิธี
ในวันฉัตรมงคลสำนักพระราชวังได้เปิดปราสาทหลายแห่งให้ประชาชนได้เข้าชมและถวายบังคม งานพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นเครื่องหมายยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติมาครบรอบปีด้วยดีอีกวาระหนึ่ง และตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทยนับอเนกอนันต์
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ประชาชนชาวไทยจึงได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองเนื่องในวันฉัตรมงคลเป็นประจำทุกปี
วันที่ 3 พฤษภาคม 2553 21:13:52
รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติฯเนื่องในวันฉัตรมงคล5 พ.ค. 2553
นายกรัฐมนตรีในนามรัฐบาลกำหนดจะจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล วันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2553 เวลา 19.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีในนามรัฐบาลกำหนดจะจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล วันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2553 เวลา 19.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล เพื่อ เป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ และถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในการนี้ รัฐบาลได้เชิญผู้มีเกียรติมาร่วมงานประมาณ 2,800 คู่ ประกอบด้วย ประธานองคมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา และประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร ตำรวจ ตุลาการ อัยการ พลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการการเมืองชั้นผู้ใหญ่ คณะกรรมการองค์กรอิสระ องค์กรภาคเอกชน ประธานมูลนิธิและนายกสมาคมการกุศล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยและต่างประเทศในประเทศไทย ตลอดจนคณะทูตานุทูต หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ กงสุลกิตติมศักดิ์ ผู้ช่วยทูตทหาร สื่อมวลชนต่างประเทศในประเทศไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลนำโดยกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเจ้าภาพหลักพร้อมทุกหน่วยงานร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสบรมราชาภิเษก ปีที่ 60 ภายใต้ชื่องาน “รวม พลัง ถวายความภักดี” ระหว่างวันที่ 5-9 พฤษภาคมนี้ ระหว่างเวลา 18.00 – 24.00 น. ณ ถนนราชดำเนิน ด้วยระยะทางรวม 5 กิโลเมตร ตั้งแต่กระทรวงกลาโหม จนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยจัดกิจกรรมไฮไลท์ 9 กิจกรรม พร้อมด้วยนิทรรศการตามรอยพระราชกรณียกิจ 76 จังหวัด ขบวนเทิดพระเกียรติที่ยิ่งใหญ่และนิทรรศการการแสดงจากกระทรวงต่าง ๆ และยังมีการจัดจำหน่ายสินค้าและอาหารจากทุกภาค พร้อมจัดการแสดงบน 3 เวทีใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ-ป้อมมหากาฬ เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเวทีหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งนี้ ในวันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 20.30 น. จะมีพิธีเปิดงาน “รวมพลังใจ ถวายความจงรักภักดี” และเปิดนิทรรศการ “รอยพระบาทยาตราทั่วประเทศ” และ วันที่ 9 พฤษภาคม เวลา 20.00 น. จะเป็นพิธีปิดงาน โดยมีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ รวมพลังพสกนิกรชาวไทยร่วมกันตั้งปณิธานเพื่อสร้างความสุขแด่พ่อ
กิจกรรม หลักบนถนนราชดำเนิน ประกอบด้วย 9 กิจกรรมหลัก ดังนี้
1. กิจกรรม "รอยพระบาทยาตราทั่วประเทศ" พิธีเปิดงานและเปิดนิทรรศการ "รอยพระบาทยาตราทั่วประเทศ" สร้างซุ้มแบ่งเป็น 7 พื้นที่ คือ ภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ตะวันตก ตะวันออก และกรุงเทพฯ จัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราช ดำเนินไปยังภาคนั้นๆ มีการจำหน่ายสินค้า อาหาร ของดี ของฝาก การละเล่นหรือเกมส์ให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมสนุกสนาน
2. กิจกรรม "ทุกขอบเขต รอยเท้าพ่อ ขอสืบสาน" : ทำหนังสือเดินทางตามรอยพระบาท 76 จังหวัดแจกผู้ร่วมงานที่เข้าชมนิทรรศการตามรอยพระบาท ซึ่งจะมีการประทับตราจังหวัดลงในหนังสือเดินทาง และมีของที่ระลึกพิเศษและรางวัลมากมายมอบให้ด้วย
3. กิจกรรม "ความสุขสันต์ เสกสร้างให้ ใจเบิกบาน" : แบ่งเป็น 3 เวที คือ
- เวทีสะพานผ่านฟ้า-ป้อมมหากาฬ เป็นการแสดงดนตรีจากศิลปินดารา นักร้อง และการแสดงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของชาวไทยทุกภูมิภาค
- เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเวทีใช้ในพิธีเปิดและปิดงาน มีการแสดงพลุดอกไม้ไฟประกอบแสง สี เสียง เรื่อง พระราชปณิธาน สถิตถิ่นดินน้ำฟ้า
- เวทีหน้าสำนักงานสลาก กินแบ่งรัฐบาล เป็นการแสดงดนตรีจาก ศิลปิน ดารา นักร้อง ในทุกๆ แนว
4. กิจกรรม "พระราชปณิธาน สถิตถิ่น ดินน้ำฟ้า" : คือการแสดงพลุดอกไม้ไฟประกอบแสง สี เสียง ในระบบ Multimedia เนื้อหา เน้นความรู้สึกตื้นตันใจในพระราชกรณียกิจของพระองค์ในการเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ
5. กิจกรรม "พระบรมโพธิสมภาร สานดวงจิต" : จัดสร้าง Landmark อันเป็น สัญลักษณ์ของงาน นั่นคือต้นพระบรมโพธิสมภารเฉลิมพระเกียรติขนาดใหญ่ และจะพิมพ์ใบโพธิ์ทองแจกจ่ายผู้ร่วมงาน เพื่อร่วมลงชื่อตั้งปณิธานสานสร้างความสุขเพื่อพ่อแล้วนำไปติดที่ต้นพระบรม โพธิสมภาร
6. กิจกรรม "นิรมิต ทิพย์ขบวน ล้วนล้ำค่า" : จัดขบวนเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย ขบวนมหาดุริยางค์ ขบวนเสลี่ยงนางแห่งมวลดอกไม้มงคล ขบวนช้างแก้ว 9 เชือก พร้อมเครื่องประกอบ ขบวนความสุขของวิถีไทย ขบวนมังกรทอง เป็นต้น
7. กิจกรรม "น้ำพุดนตรี เริงสราญ ตระการตา" : จัดแสดงน้ำพุดนตรี 9 จุด บน เกาะกลางถนนราชดำเนิน
กิจกรรม "มหัศจรรย์ ดอกไม้ฟ้า ดอกไม้ไฟ" : แสดงพลุดอกไม้ไฟชุดพิเศษบนเกาะกลางถนนราชดำเนินตลอดความยาว 1 กิโลเมตร และบริเวณโดยรอบถนนราชดำเนินประกอบแสง สี เสียง และเลเซอร์
9. กิจกรรม "ความสุขของคนไทยใต้พระราชปณิธาน" : คือพิธีปิดและการรวมพลังของผู้ร่วมงานที่ร่วมตั้งปณิธานสานสร้างความสุข เพื่อพ่อรวมถึงการแสดงความจงรักภักดี ความสามัคคี ด้วยการร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและสดุดีมหาราชา
ที่มา สำนักนายกรัฐมนตรี
Post a Comment